ประวัติทางวัฒนธรรม

ประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ – สมัยทวารวดี- สมัยขอมหรือเขมร

จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประว้ติศาสตร์ ดังหลักฐานที่ขุดค้นพบ จากแหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อยกุดค้อเมย ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ กำไลสำริด กำไลหิน แม่พิมพ์ทำจากหินทรายสำหรับใช้หล่อหัวขวานสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดแก้ว เป็นต้น อายุประมาณ 2,500 ปี ซึ่งสถานที่ขุดค้นพบอยู่ที่บ้านกุดกวางสร้อยและบ้านกุดค้อเมย อำเภอโนนสัง บริเวณเชิงเขาภูพานด้านทิศตะวันตกและเชิงเขาภูเก้าด้านทิศตะวันออก ซึ่งแหล่งโบราณคดีสองแห่งนี้มีอายุใกล้เคียงกับวัฒนธรรมบ้านเชียง

ประมาณ พ.ศ. 1100 – พ.ศ. 1500 ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูได้ค้นพบวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ใบเสมา ที่ภูน้อย วัดพระธาตุเมืองพิณ อำเถอนากลาง และวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรรคูหา

ประมาณ พ.ศ. 1500 – พ.ศ. 1700 ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูได้รับวัฒนธรรมขอมหรือเขมร พบโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่เป็นศิปละขอมหรือเขมร เช่น ฐานวิหารศิลาแลง ศิลาจารึกวัดพระธาตุเมืองพิณ และอักษารขอมโบราณที่วัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา

สมัยสุโขทัย

พ.ศ. 1896 – พ.ศ. 1961 ในสมัยสุโขทัย เป็นสมัยอาณาจักรล้านช้างก่อกำเนิดในภาคอีสาน ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้างุ้มฟ้าและพระเจ้าสามแสนพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับอิทธิพลและเป็นเขตอาณาจักรล้านช้าง ครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจนไปถึงแอ่งโคราช และกระจายชุมชนเข้ามาสู่แอ่งสกลนครจนไปถึงบริเวณพระธาตุพนม เลยลงไปถึงแดนเขมรจนปัจจุบันเรียกว่า อีสานใต้ (จากพงศาวดารล้านช้าง) พื้นที่ในจังหวัดหนองบัวลำภูจึงได้รับอิทธิพลล้านช้างซึ่งแพร่หลายในขณะนั้นในบริเวณแอ่งสกลนคร และรับศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ (นิกายเถรวาท) เป็นศาสนาประจำถิ่นตามผู้ปกครองอาณาจักร

สมัยอยุธยา

ประมาณ พ.ศ. 2106 พระไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (กรุงเวียงจันทน์) ได้นำผู้คนอพยพจากหลวงพระบางเและเวียงจันทร์มาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ในปีพ.ศ. 2106 หลังจากที่สร้างเมืองเวียงจันทร์ในปีพ.ศ. 2103 และก็อยู่ในระหว่างการสร้างพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งภาคอีสานก็อยู่ในเขตอาณาจักรล้านช้าง ดังหลักฐานที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกและได้สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในวัดถ้ำสวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา และนำไพร่พลมาบูรณะสร้างบ้านสร้างสาเมืองนครหนองบัวลุ่มภูขึ้นใหม่อีกครั้งที่ริมหนองบัว (หนองซำซ้าง) ซึ่งเป็นเมืองเก่าสมัยขอมเรืองอำนาจ พระไชยเชษฐาธิราชได้สร้างพระพุทธรูป วิหาร และขุดบ่อน้ำในบริเวณวัดศรีคูณเมือง[6] และยกฐานะเป็นเมือง เวียงจำปานครกาบแก้วบัวบาน” มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์ คนทั่วไปนิยมเรียกว่า หนองบัวลุ่มภู” ซึ้งปัจจุบันเรียกเพี้ยนมาว่าหนองบัวลำภูถือว่าเป็นเมืองเอกล้านช้างตะวันตกของอาณาจักรล้านช้าง

ปี พ.ศ. 2117 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ให้แก่พม่าสมัยพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ยกกองทัพช่วยพม่ารบกับกรุงเวียงจันทน์ โดยมีสมเด็จพระนเรศวรตามเสด็จพระราชบิดาช่วยรบ เนื่องจากพระไชยเชษฐาธิราชได้หายสาบสูญไปในระหว่างการรบปราบญวน เวียงจันทน์เกิดการแย่งชิงราชสมบัติจึงได้ถือโอกาสเข้าตีกรุงเวียงจันทน์ สมเด็จพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวร นำกองทัพเสด็จประทับแรมที่บริเวณหนองบัว เนื่องจากมีทัศนียภาพที่สวยงามและมีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคในบริเวณนั้น สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงพระประชวรด้วยไข้ทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีได้รับข่าวจึงอนุญาตให้สมเด็จพระนเรศวรเดินทางกลับเพื่อรักษาพระองค์

ประมาณปี พ.ศ. 2302 ตรงกับสมัยพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าสุวรรณปางคำปาหลังพร้อมเสนาบดีจากเมืองเชียงรุ่งและพระวอซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระวรราชภักดีและพระตา มีภูมิลำเนาเดิมที่บ้านหินโงม เป็นเสนาบดีของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ มาตั้งแต่สมัย พระเจ้าอนุวงษ์ไทธิราช เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ฝ่ายนอกของกษัตริย์กรุงเวียงจันทน์ มีเรื่องขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสารผู้เป็นโอรส พระวอและพระตาได้อพยพไพร่พลข้ามลำน้ำโขงมาตั้งภูมิลำเนา มาบูรณะสร้างบ้านแปลงเมืองที่ เวียงจำปานครกาบแก้วบัวบาน”ให้เป็นเวียงใหม่เป็นเวียงนครใหญ่ชื่อว่า เวียงใหม่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ซึ่งเป็นเอกเทศราชไม่ขึ้นต่อผู้ใด มีกฏบัญญัติบ้านเมือง มีกษัตริย์ปกครอง มีดินแดนกำแพงคูเมืองล้อมรอบพร้อมประตูเวียง มีแม่น้ำแม่พระเนียงเป็นสายหลัก มีเมืองหน้าด้านของตัวเอง ได้แก่เมืองนาด้วง ภูเวียง ผาขาว พรรณา พร้อมผู้คนและช้างเผือกคู่เวียง

สมัยธนบุรี

ประมาณ พ.ศ. 2310 ตรงกับต้นสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระเจ้าศิริบุญสารแห่งเมืองเวียงจันทน์ยกทัพมาตีพระวอพระตาที่เมือง นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน”(ชื่อจังหวัดหนองบัวลำภูในสมัยนั้น) ทำการสู้รบกันที่ช่องน้ำจั่น(น้ำตกเฒ่าโต้) บนภูพานคำใช้เวลาอยู่ประมาณ 3 ปี ฝ่ายเวียงจันทน์ขอกำลังจากพม่ามาช่วยรบ จึงสามารถตีเมืองแตกได้ พระตาถูกข้าศึกฆ่าในสนามรบ ส่วนพระวออพยพไพร่พลไปขอพึงบารมีเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ต่อมาได้แยกมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่ดอนมดแดง(ปัจจุบันคือจังหวัดอุบลราชธานี) แล้วขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้ากรุงธนบุรี

ปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าศิริบุญสารได้ยกกองทัพมารุกรานพระวอ และปราบพระวอได้ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบรีทราบ โปรดสั่งให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพไปมาช่วยพระวอ แล้วยกกองทัพติดตามเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์จนได้ชัยชนะ และได้นำพระแก้วมรกตซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนำไปจากเมืองเชียงใหม่กลับมาคืนสู่เมืองไทยดังเดิม พระยาจักรีได้รับบำเหน็จความชอบเป็น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กรุงเวียงจันทน์ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของไทยในฐานะเมืองประเทศราช และเมือง “นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” จึงได้ขึ้นกับราชอาณาจักรไทยตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

สมัยรัตนโกสินทร์

ปี พ.ศ. 2369 ในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงษ์แห่งเวียงจันทน์ได้ก่อกบฏ ยกทัพมาบุกยึดเมืองนครราชสีมาทางกรุงเทพได้ส่งกองทัพมาปราบ ฝ่ายเจ้าอนุวงษ์ได้ถอยร่มไปตั้งรับอยู่ที่เมือง”หนองบัวลุ่มภู”ต่อสูรบกันเป็นสามารถ และติดตามจับเจ้าอนุวงษ์ได้ที่เมืองเวียงจันทน์ แล้วนำตัวไปพิจารณาโทษที่กรุงเทพด้วยการทรมานและประจานอยู่หลายวันจนเสียชีวิตในกรงขัง

ปี พ.ศ. 2433 สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯให้จัดระเบียบปกครองเมืองทางลุ่มแม่น้ำโขงใหม่ โดยให้ข้าหลวงเมืองหนองคายบังคับบัญชา ช่วงนี้เมืองหนองบัวลำภูขึ้นอยู่กับเมืองหนองคาย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯให้แต่งข้าหลวงใหญ่ล้วนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 พระองค์ในปี พ.ศ. 2434 คือ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เรียกว่า “ข้าหลวงเมืองลาวกาว” เป็นข้าหลวงประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี และในปี พ.ศ. 2436 กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่ประทับ ณ เมืองอุดรธานี เรียกว่า “ข้าหลวงเมืองลาวพวน” และกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี เรียกว่า “ข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว” หนองบัวลำภูขึ้นสังกัดกับเมืองลาวพวนและแต่งตั้ง “พระวิชดยดมกมุทเขต” มาครองเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเอกของมณฑลลาวพวนและเปลี่ยนชือเมืองใหม่ว่า “เมืองกมุทธาไสยบุรีรมย์” และเป็นข้าหลวงคนสุดท้ายของเมือง

ปี พ.ศ. 2443 รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เปลี่ยนชือมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดรและรวมผังเมืองต่างๆ ในมณลอุดรเป็น 5 บริเวณ ได้แก่ บริเวณบ้านหมากแข้ง บริเวณธาตุพนม บริเวณสกลนคร บริเวณพาชี บริเวณน้ำเหือง เมืองกมุทธาสัยได้ถูกรวมอยู่ในบริเวณบ้านหมากแข้งประกอบด้วย 7 เมืองคือ เมืองหมากแข้ง หนองคาย หนองหาน กมภวาปี กมุทะาสัย โพนพิสัย และรัตนวาปี ตั้งที่ว่าการอยู่ที่บ้านหมากแข้ง

ปี พ.ศ. 2449 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองกมุทธาสัยมาเป็น “เมืองหนองบัวลุ่มภูและเพี้ยนเป็นหนองบัวลำภูในปัจจุบัน”ขึ้นกับบริเวณบ้านหมากแข้ง

ปี พ.ศ. 2450 ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทยรวมเมืองต่างๆ ในบริเวณบ้านหมากแข้งตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า “เมืองอุดรธานี” ส่วนเมืองในสังกัดบริเวณให้มีฐานะเป็นอำเภอ เมืองหนองบัวลำภู จึงกลายเป็น อำเภอหนองบัวลำภู” และมีอำเภอที่เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน โดยจัดตั้งขึ้นตามลำดับ 4 กิ่งอำเภอ คือ

  1. กิ่งอำเภอโนนสัง เมื่อปี พ.ศ. 2491
  2. กิ่งอำเภอศรีบุญเรื่อง เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2508
  3. กิ่งอำเภอนากลาง เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2508
  4. กิ่งอำเภอสุวรรณคูหา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2516

ปี พ.ศ. 2536 ประกาศแต่งตั้งเป็น จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 โดยประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 110 ตอนที่ 125 ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2536

 

                                                                                                    อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/

 

ใส่ความเห็น