โบราณวัตถุ

๑.๑ พระปางมารวิชัย
พระพุทธรูปปางมารวิชัยพระประธานในห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างหล่อด้วยทองสำริดซึ่งนายบำเพ็ญ ณ อุบล ข้าราชการบำนาญ สำนักงานอัยการพิเศษ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร นำมามอบให้จังหวัดหนองบัวลำภู ในนามทายาทลูกหลาน “พระวอ พระตา” เมื่อครั้งกระทำพิธีสถาปนาจังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ โดย ฯพณฯ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานพิธีเป็นผู้รับมอบ และนายประภา ยุวานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู คนแรก เป็นผู้นำไปประดิษฐานไว้ ณ ห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อความเป็นศิริมงคล และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

๑.๒ พระบางวัดมหาชัย

เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ จำนวนหนึ่งคู่ เป็นโบราณวัตถุที่สำคัญของจังหวัด เก็บรักษาอยู่ที่วัดมหาชัย หมู่ที่ ๓ ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู หล่อด้วยทองสีดอกบวบ มีอักษรจารึกอยู่ที่ฐานเป็นภาษาขอม หรือที่ชาวเมืองเรียกกันว่า “อักษรธรรม” บอกชื่อผู้สร้างและวันเดือนปีที่สร้างอ่านได้ความว่า “สังกาดได้ร้อยแปดสิบห้าตัว ปีกาเมด เดือนยี่ แรม ๑๕ ค่ำ วันหก แม่อวนพ่ออวนผัวเมียมีศรัทธาสร้างไว้ในพระศาสนา” เมื่อพิเคราะห์ดูตามภาษาที่ใช้จารึกนั่นแล้ว เป็นภาษาไทยเหนือ เพราะใช้ศกนับตามอย่างข้างจีน และใช้จุลศักราชอย่างไทย เมื่อคำนวณดูตามปีที่สร้างแล้วก็คงสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖ วันศุกร์ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม สัมฤทธิศก คำว่าสังกาด คงจะหมายถึง จุลศักราช กา หมายถึง สัมฤทธิศก เมด หมายถึง ปีมะแม เพราะภาษาทางไทยเหนือ วิธีนับปีเอาศก ไว้ข้างหน้า เช่นปีชวด เอกศก ใช้คำว่า “กาบใจ้” อย่างนี้เป็นต้น
พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ ชาวหนองบัวลำภูนับถือมาก เมื่อใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเกิดความแห้งแล้งขึ้น ชาวเมืองก็จะพากันอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสอง องค์นี้ ขึ้นประดิษฐานบนเกวียนสมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ แล้วทำพิธีแห่รอบหนองบัวเพื่อขอฝน ในวันที่ทำพิธีนั้นถึงแม้ดินฟ้าอากาศจะแจ่มใส ไม่มีเมฆหมอกบดบัง พระอาทิตย์เลยก็ตาม ฝนจะตกลงมาไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่งในขณะที่กำลังแห่อยู่นั้นเอง ในปัจจุบันนี้เมื่อถึงเทศการสงกรานต์ ทางราชการจะจัดรถยนต์อัญเชิญ ประดิษฐานในรถยนต์ แห่พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้รอบถนนด้านในเขตเทศบาล สายต่างๆ ไปเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำและสักการะบูชาตามควรแก่การปฏิบัติของ พุทธศาสนิกชน ซึ่งเป็นการทำติดต่อกันมามิได้ขาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
๑.๓ พระราชศรีสุมังค์หายโศก

ประดิษฐานที่อุโบสถวัดหายโศก บ้านลำภู อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู สันนิษฐานว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างรุ่นเดียวกันกับ พระไชยเชษฐา วัดถ้ำสุวรรณคูหา และวัดศรีคูณเมือง สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๑๐๖ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าเมืองและชาวเมืองเคารพนับถือมาก ใช้เป็นพระประธานในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและ ดื่มน้ำสาบาน

๑.๔ พระไชยเชษฐา

วัดถ้ำสุวรรณคูหาเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง สร้างโดยพระไชยเชษฐาธิราช ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๐๖ ประดิษฐานที่วัดสุวรรณคูหา อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู นอกจากพระพุทธรูปองค์นี้แล้วยังมีพระซึ่งแกะสลักจากหินอยู่ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหานี้จำนวนมาก มีศิลาจาลึกอยู่ ๓ หลัก ซึ้งได้นำจารึกไปไว้ในเรื่องภาษาและ วรรณกรรมโดยละเอียดแล้ว

๑.๕ พระไชยเชษฐาวัดศรีคูณเมือง

เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ประดิษฐานในพระธาตุที่มีศิลปะคล้ายกับพระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย สันนิษฐานว่าพระไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างไว้ในรุ่นเดียวกับ พระไชยเชษฐาวัดถ้ำสุวรรณคูหา ปัจจุบันวัดศรีคูณเมือง ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ได้สร้างศาลาครอบพระธาตุไว้อีกชั้นหนึ่ง สำหรับวัดศรีคูณเมืองนี้มีซากเทวสถาน และเสมาหินของขอมหันหน้าไปทางประเทศกำพูชา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในสมัยที่สร้าง ควรที่กรมศิลปกรจะมาสำรวจ และขึ้นทะเบียนไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
๑.๖ เสมาหินวัดถ้ำสุวรรณคูหา
จำนวน ๓ หลักอยูที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู มีรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องของจารึกแล้ว

๑.๗ เสมาหินวัดศรีคูณเมือง
วัดศรีคูณเมือง อำเภอเอง จังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งอยู่รายรอบซากเทวสถานวัดศรีคูณเมืองทั้ง ๔ ทิศ

๑.๘ กลุ่มเสมาหินวัดภูน้อย
วัดสันติธรรมบรรพต อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู มีทั้งหมด ๘ กลุ่ม วางไว้ทั้ง ๘ ทิศ แต่ละกลุ่มมีเสมาหินจำนวน ๔ ใบ บางใบมีจารึก บางใบมีการ แกะสลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์และรูปคล้ายเจดีย์ ใบที่พิเศษที่สุด คือ มีรูปลูกศร ๔-๕ ดอก สันนิษฐานว่ากลุ่มเสมาหินเหล่านี้ ฝังอยู่รายรอบเทวสถานของขอม เหมือนกับเสมาหินวัดศรีคูณเมือง

๑.๙ พระพุทธรูปบุเงินบุทองและพระพุทธบรรฑูรนิมิตร
วัดถ้ำกลองเพล บริเวณถ้ำที่พบปรากฏมีวัตถุโบราณหลายอย่าง เช่น หม้อลายคราม มีดขวาน กล่องยาสูบ มีลวดลายงามมาก สำหรับวัดถ้ำกลองเพลแห่งนี้นอกจาก จะเป็นวัดหลวงปู่ขาว อนาลโย พระอริยสงฆ์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปรมาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ตามประวัติของวัดในอดีตนั้นเคยเป็นเทวสถาน ของขอมเหมือนกับโบราณสถานต่าง ๆ ในจังหวัดหนองบัวลำภูอีกด้วย

 

                                                                                                                       อ้างอิงhttp://nongbualamphu.go.th/web/data/culture/culture.htm

ใส่ความเห็น