ข้าวเหนียวผัวหลง

aroi2

ข้าวเหนียวผัวหลงหนองบัวลำภู   เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวพันธุ์ กข 6  ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูที่มีความเหมาะสมกับสภาพดินฟ้า อากาศ เมื่อเก็บเกี่ยวและสีเป็นข้าวสารแล้วจะได้เมล็ดเต็ม เรียวเล็ก  เมื่อนำมาหุงหรือนึ่งและเก็บไว้ในภาชนะปิดสนิท ได้แก่ กระติ๊บข้าว ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “ ก่องข้าว ”จะอยู่ได้นานมีความหอม อ่อนนุ่มไม่ติดมือ ไม่แห้งและแข็งกระด้าง

นิยามของข้าวเหนียวผัวหลงหนองบัวลำภู สมัยโบราณเมื่อหญิงชายจะแต่งงานกัน พ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่ มักจะสอนให้ฝ่ายหญิงรู้จักประพฤติปฏิบัติตนด้วย “เรือน 3 น้ำ 4” ซึ่งเรือน 3 ก็ได้แก่ เรือนผม,เรือนกาย และเรือนที่อยู่ หรือบางแห่งก็ว่าหมายถึง เรือนผม, เรือนไฟ และเรือนนอน ส่วนน้ำ 4 ก็ได้แก่ น้ำมือ, น้ำใจ, น้ำคำ และน้ำเต้าปูน(กินหมากไม่ให้ปูนแห้ง) แต่บางแห่งก็ตีความว่า น้ำกิน, น้ำใช้, น้ำใจ และน้ำเต้าปูน

การประพฤติปฏิบัติด้วยเรือน 3 น้ำ 4 นี้ แท้ที่จริงก็คือ การอบรมให้หญิงสาว ที่จะแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา    รู้จักหน้าที่ของความเป็นแม่บ้าน แม่เรือน เพื่อผูกใจสามีให้รักใคร่เอ็นดูผู้เป็นภริยาน้ำสี่ นั้น น้ำแรก ได้แก่ น้ำมือ หมายถึง ต้องรู้จักหัดทำข้าวปลาอาหารอร่อยๆ ให้สามีรับประทาน ซึ่งสมัยโบราณ หญิงสาวไม่ว่าจะชาวบ้าน หรือชาววังต่างก็ทำอาหารเป็นทั้งนั้น เพราะสมัยก่อน ไม่มีร้านอาหารสำเร็จรูปให้ซื้อ มีแต่วัตถุดิบที่ต้องนำไปปรุงเอง ดังนั้น หญิงสาวส่วนใหญ่ จึงถูกฝึกให้ทำกับข้าวกับปลา มาแต่เด็กๆ เสมือนหนึ่งหัดวิชาชีพติดตัว   ที่สำคัญ คนรุ่นก่อนมีคติว่า “เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย”   หญิงสาวทั้งหลายจึงต้องมี “น้ำมือ” ในการทำอาหาร การหุงข้าว นึ่งข้าวตลอดจนสอนวิธีการนึ่งข้าวเหนียวแบบโบราณที่พิถีพิถัน   เพื่อให้ได้ข้าวเหนียวที่อ่อน นุ่ม น่ารับประทาน เป็นเสน่ห์ปลายจวัก  ทำให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาหรือได้รับประทานหลงใหลในความหอม อร่อยของข้าวเหนียว  เป็นที่มาของ  ข้าวเหนียว ผัวหลงหนองบัวลำภู

ชาวจังหวัดหนองบัวลำภู นิยมปลูกและบริโภค “ข้าวเหนียว” เป็นอาหารหลัก มาเป็นเวลาช้านาน  ดังที่เห็นในพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ซึ่งมีฟอสซิลของสัตว์ต่าง ๆ กว่าร้อยล้านปี  รวมถึงเมล็ดข้าวเหนียวที่กลายเป็นหินซึ่งเหล่านี้ล้วนแสดงได้ว่าชาวจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นท้องถิ่นที่มีข้าวเหนียว และกินข้าวเหนียวมาแต่     โบราณกาล  ซึ่งปัจจุบันดังจะเห็นได้ว่า ชาวจังหวัดหนองบัวลำภูยังนิยมปลูกข้าวเหนียวกันมากกว่า ร้อยละ  70  ของข้าวที่ปลูกในจังหวัดหนองบัวลำภู ส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวจังหวัดหนองบัวลำภูปลูกเพื่อรับประทานกันมาเป็นเวลาช้านาน และข้าวพันธุ์ กข 6  ซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกในที่ลุ่ม มีภูเขาล้อมรอบ มีหนองน้ำธรรมชาติไหลผ่าน  11  ลุ่มน้ำคือ  ลุ่มน้ำห้วยพะเนียง  ลุ่มน้ำพวย  ลุ่มน้ำพอง ลุ่มน้ำมอ ลุ่มน้ำห้วยโซม ลุ่มน้ำห้วยเดื่อ ลุ่มน้ำห้วยโมง ลุ่มน้ำห้วยโค่โล่ ลุ่มน้ำห้วยบน  ลุ่มน้ำห้วยคะนาน ลุ่มน้ำห้วยหลวง  ซึ่งเป็นลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวจังหวัดหนองบัวลำภูมาหลายรุ่นต่อหลายรุ่น กอปรกับชาวจังหวัดหนองบัวลำภูรับประทานข้าวเหนียวกันเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ เช้า กลางวัน และมื้อเย็น เปิบมือกินกับอาหารพื้นบ้าน ตำบักหุ่ง อาหารอีสาน ลาบ ก้อย พร้อมหน้าครอบครัว    ม่วนซื่น ด้วยข้าวเหนียวที่ปลูกเอง ซึ่งเมื่อนำมานึ่ง จะมีกลิ่นหอมละมุน  อ่อน  นุ่ม  เก็บไว้ได้นานในภาชนะที่ปิดสนิท เรียกว่ากล่องข้าว หรือกระติ๊บข้าว  ไม่บูดง่าย ไม่แข็ง  กระด้าง จึงทำให้มีการเรียกขานชื่อข้าวเหนียวว่า  “  ข้าวเหนียวผัวหลงหนองบัวลำภู ”

 

อ้างอิงhttp://www.nongbualamphu.go.th/sr/srnp2.htm

ใส่ความเห็น