ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของหนองบัวลำภู ส่วนใหญ่จะเป็นแอ่งที่ราบมีภูเขาล้อมรอบ เทือกเขาที่สำคัญ คือเทือกเขาภูพานอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดหนองบัวลำภู โดยทอดแนวยาว มาจากริมฝั่งแม่น้ำโขงตอนเหนือเขตอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ผ่านเข้ามาเขตอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี และเข้าสู่เขตอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และเข้าไปในเขตอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ผ่านไปกาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม จังหวัดหนองบัวลำภู มีพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบสูงบางส่วนเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นถึงลอนลึก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200 เมตร ทางตอนบนของจังหวัดจะเป็นพื้นที่ภูเขาสูง แล้วลาดไปทางทิศใต้และตะวันออก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทรายและลูกรังไม่สามารถเก็บน้ำหรือ อุ้มน้ำในฤดูแล้ง ลักษณะภูมิอากาศในจังหวัดหนองบัวลำภูแบ่งออกเป็น 3 ฤดู เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปขึ้นอยู่กับมรสุม ที่พัดผ่านประจำปี จัดอยู่ในประเภทภูมิอากาศแบบพื้นเมืองร้อนเฉพาะฤดู คือ จะมีฝนตก เฉพาะฤดูกาล สลับกับมีช่วงแห้งแล้งที่เห็นได้ชัดซึ่งแต่ละฤดูจะมีอุณหภูมิแตกต่างกัน ดังนี้ ฤดูหนาว : อุณหภูมิต่ำเฉลี่ยประมาณ 15-16 องศาเซลเซียส อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ของทุกปี ฤดูร้อน : อุณหภูมิต่ำเฉลี่ยประมาณ 34-36 องศาเซลเซียส อยู่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี ฤดูฝน : อุณหภูมิต่ำเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส (ในวันที่ฝนตก)อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน ของทุกปี ปริมาณน้ำฝน ที่ตกโดยเฉลี่ยประมาณ 978.3-1,348.9 มิลลิเมตร ต่อปี

ป่าไม้ พื้นที่ป่าไม้จังหวัดหนองบัวลำภู มีพื้นที่ป่าทั้งหมด 346,343.20 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็น
1)ป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 1,603,647 ไร่ จำนวน 6 ป่า ได้แก่
1.1 ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย – ป่านากลาง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 942 (พ.ศ. 2524) อยู่ในท้องที่อำเภอนาวัง อำเภอนากลาง อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และอำเภอศรีบุญเรือง เนื้อที่ 756,193 ไร่
1.2 ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเก้า ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 490 (พ.ศ. 2515) อยู่ในท้องที่อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และอำเภอโนนสัง เนื้อที่ 103,125 ไร่
1.3 ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูพาน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 655 (พ.ศ. 2517) อยู่ในท้องที่อำเภอโนนสัง เนื้อที่ 19,081 ไร่
1.4 ป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองบัว ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 751 (พ.ศ. 2518 ) อยู่ในท้องที่อำเภอเมืองหนองบัวลำภู เนื้อที่ 2,390 ไร่
1.5 ป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองเรือ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 944 (พ.ศ. 2524) อยู่ในท้องที่อำเภอนาวัง อำเภอนากลาง อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และอำเภอศรีบุญเรือง เนื้อที่ 709,008 ไร่
1.6 ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยส้มและป่าภูผาแดง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 847 (พ.ศ. 2522) อยู่ในท้องที่อำเภอศรีบุญเรือง เนื้อที่ 13,850 ไร่
2) อุทยานแห่งชาติจังหวัดหนองบัวลำภู มี 1 แห่ง
2.1 อุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ สถานที่ตั้ง สำนักงานท้องที่บ้านท่าศิลา ตำบลบ้านค้อ อำเภอโนนสัง อยู่ในท้องที่อำเภอเมืองหนองบัวลำภู อำเภอโนนสัง และอำเภอภูเวียง (จังหวัดขอนแก่น) เนื้อที่ 201,250 ไร่
3) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 312,575 ไร่
4) พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลาย จำนวน 7,726.61 ไร่

แม่น้ำ
จังหวัดหนองบัวลำภู มีแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นลำน้ำสายสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำห้วยพะเนียง มีความยาว 83 กิโลเมตร ลำน้ำพอง ลำน้ำมอ ลำน้ำห้วยโมง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่สำคัญของจังหวัดเหล่านี้เกิดจากภูเขาทางด้านเหนือ ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกของจังหวัด นอกจากนี้จะเป็นลำห้วยสั้น ๆ อื่นที่มีสภาพตื้นเขินไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้และไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ แร่ธาตุ แร่ธาตุที่สำคัญที่สำรวจพบและมีการผลิตอยู่ในขณะนี้เป็นหินปูน ซึ่งนำมาใช้ผลิตเป็นหินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง (โรงโม่หิน) พบที่ อ.นากลาง อ.ศรีบุญเรือง อ.สุวรรณคูหา อ.นาวัง แต่มีผลิตที่อำเภอนากลาง และ อ.นาวัง เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ ได้แก่ถ่านหิน พบที่ตำบลนาแก อ.นากลาง แร่แบไรท์พบที่ ตำบลนาดี ตำบลบ้านโคก อ.สุวรรณคูหา หินแกรนิต ที่ อ.สุวรรณคูหา หินอ่อนและโคเลไมท์ ที่ อ.นากลาง

ใส่ความเห็น